คนเลี้ยงผึ้ง ผึ้งเลี้ยงคน
2023-07-21 12:05:57
จำนวนครั้งที่อ่าน : 340
น้ำผึ้งเดือน 5 น้ำผึ้งให้รสหวานที่สุด ในช่วงเดือน 5 ไทย ซึ่งตรงกับช่วง เดือนมีนาคม-เมษายน เพราะน้ำผึ้งในช่วงฤดูแล้ง จะให้กลิ่นรสเข้มข้นหวานหอม ต่างจากน้ำผึ้งในฤดูอื่น ที่มีปริมาณน้ำเจือปนอยู่มาก วิถีของคนและผึ้ง ที่อยู่ร่วมกันจนกลายเป็นอุตสาหกรรม รสหวานที่คนทั้งโลกต่าง "หลงรัก"
อุตสาหกรรมผึ้งเลี้ยงในภาคเหนือมีอยู่หลายเจ้า หลายขนาด ทั้งการเลี้ยงกันเองในครัวเรือน ในสวน ไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ขายทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ อย่างเช่น ฟาร์มผึ้งพัฒนกิจ ที่มีปริมาณผึ้งเลี้ยงเกือบ 5,000 รังในปัจจุบัน
ในชีวิตของเราทุกคน ล้วนต้องเคยโดนผึ้งต่อยกัน อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง และพิษของผึ้งนั้นก็ร้ายกาจ จนทำเอาจำฝังใจ ว่าได้ยินเสียงผึ้งบินหึ่งๆ เมื่อใดก็จงรีบเดินหนีไป ให้ไกลที่สุดเมื่อนั้น
แต่คนเลี้ยงผึ้งอย่าง คุณบัญชา ยืนยันว่าจริงๆ แล้วผึ้งเป็นสัตว์ที่เป็นมิตร กว่าที่เราคิด
“จริงๆ ผึ้งเป็นสัตว์ที่สะอาด ขยัน น่ารัก เป็นสัตว์ที่น่าอยู่ด้วยมากที่สุด ถ้าเราเข้าใจเขา เขาก็จะไม่ดุ เขาชอบให้เราไปดูแลเขา ถ้าเราดูแลถูกวิธี เขาก็จะอยากให้เราไปดูแล ผึ้ง 1 ลัง เราไม่ควรใช้เวลาดูแลเขาเกิน 10 นาที เพราะถ้าเกิน 10 นาทีแล้ว มันจะเริ่มดุ ถ้าตอนอากาศดี ผึ้งก็จะไม่ค่อยดุ แต่ถ้าเจอฝนตก หรือตอนอากาศเย็นๆ หน้าหนาว มันจะดุกว่า
แล้วก็อย่าไปทำร้ายเขา ถ้าเราไม่ระวัง ทำตัวผึ้งตาย 1 ตัว มันจะมีกลิ่นขึ้นมา ถ้ามีกลิ่นขึ้นมา ตัวอื่นได้กลิ่น ก็จะคิดว่าจะมีศัตรูมาทำลายเขา เขาก็จะเริ่มดุทันที เพราะฉะนั้นเวลาเราดูแลผึ้งเราก็ต้องระวัง อย่าทำให้ผึ้งตาย”
ระหว่างที่เราพูดคุยกัน ผึ้งจอมขยัน ก็ยังบินหาน้ำหวานดอกลำไย กันให้ควั่ก เฉพาะสวนนี้เพียงสวนเดียว น่าจะมีผึ้งนับหมื่นตัว เมื่อเราเงียบเสียง จึงได้ยินเสียงผึ้งบินชัดเจน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เห็นใครโดนผึ้งต่อย แม้แต่ตัวเดียว เพราะจริงๆ แล้วโดยธรรมชาติ ผึ้งไม่ได้ต้องการต่อยใครเลย แม้แต่น้อย เพราะเมื่อมันฝังเหล็กไนลงไปแล้ว มันก็จะตายแทบจะทันที การต่อยของผึ้ง จึงเป็นการสู้แบบหน่วยโจมตีพิเศษกามิกาเซ่ ที่เลือกจะพลีชีพเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของตัวเอง เรียกว่าหากไม่เข้าตาจน หรือไม่สุดวิสัยจริงๆ มันก็จะไม่ต่อยเราเป็นอันขาด
ยิ่งกับผึ้งเลี้ยงของฟาร์มนี้ ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์อิตาลี ซึ่งคัดเลือกมาเป็นพิเศษ ก็จะยิ่งเป็นมิตรมากกว่าสายพันธุ์ท้องถิ่น แถมยังมีลักษณะพิเศษที่เหมาะกับงานอุตสาหกรรม นั่นก็คือการให้ผลผลิตมากกว่าผึ้งทั่วไป
ผึ้งเลี้ยงต่างจากผึ้งป่าตรงที่ว่า ผึ้งป่าจะมีลักษณะรังที่เป็นไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้นตามการออกแบบของผึ้ง ในขณะที่ผึ้งเลี้ยงจะถูกดีไซน์มาแล้วให้อยู่ในลังไม้สีขาว แต่ละรังจะบรรจุไปด้วย ‘คอนผึ้ง’ หรือรังผึ้งกึ่งสำเร็จรูปที่มีขนาดพอเหมาะพอดี เป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมที่ด้านกว้างด้านหนึ่ง มีขอบไม้ยื่นออกมาเล็กน้อย ไว้เพื่อเกาะกับขอบลัง และเพื่ออำนวยความสะดวกในการจับ
ส่วนบรรดา ผึ้งตัวผู้ ที่เหลืออยู่นั้น ไม่ได้มีหน้าที่อะไร นอกเหนือไปจากการผสมพันธุ์ กับนางพญาเท่านั้น เพราะมันไม่ทำงานในรัง และไม่บินออกไปหาอาหาร ในยามที่สิ่งแวดล้อมไม่สมบูรณ์ อาหารมีอยู่จำกัด ผึ้งงานในรังก็จะช่วยกันขับไล่ผึ้งตัวผู้ ออกไปให้พ้นรัง เพราะมันต้องการเก็บอาหาร ที่เหลืออยู่ไว้ให้กับนางพญา ตัวอ่อน และผึ้งตัวอื่นๆ ที่ช่วยกันออกแรงทำงานนั่นเอง
ผึ้งเลี้ยงต่างจากผึ้งป่าตรงที่ว่า ผึ้งป่าจะมีลักษณะรังที่เป็นไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้นตามการออกแบบของผึ้ง ในขณะที่ผึ้งเลี้ยงจะถูกดีไซน์มาแล้วให้อยู่ในลังไม้สีขาว แต่ละรังจะบรรจุไปด้วย ‘คอนผึ้ง’ หรือรังผึ้งกึ่งสำเร็จรูปที่มีขนาดพอเหมาะพอดี เป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมที่ด้านกว้างด้านหนึ่ง มีขอบไม้ยื่นออกมาเล็กน้อย ไว้เพื่อเกาะกับขอบลัง และเพื่ออำนวยความสะดวกในการจับ
เมื่อเลี้ยงผึ้ง ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างผึ้ง ในที่นี้หมายถึงต้องมีแบบแผน ขยัน และใจกว้างให้ได้เท่ากับผึ้ง
ผึ้งเป็นสัตว์ที่มีแบบแผน คนเลี้ยงผึ้งจึงต้องวางแผนให้เก่ง ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการเพิ่มและลดจำนวนผึ้ง ไปตามฤดูกาล ฟาร์มผึ้งพัฒนกิจ จะเริ่มขยายพันธุ์ผึ้งให้มากที่สุด ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เพื่อเตรียมผึ้งให้พร้อม สำหรับฤดูเก็บเกี่ยวสำคัญในช่วงเดือน 5 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผึ้งจะให้ผลผลิตที่ดีที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ เดือน 5 ไทยเป็นฤดูดอกลำไยบาน ผึ้งจะให้น้ำผึ้งที่หอมกลิ่นลำไย แถมยังเป็นฤดูที่น้ำผึ้งเข้มข้นที่สุดอีกด้วย
หลังจากลำไยเริ่มติดผล ครบทุกพื้นที่ ลังไม้ก็จะถูกย้ายไปยังสวนลิ้นจี่ เพื่อผลิตน้ำผึ้งลิ้นจี่ และย้ายไปในป่า เพื่อให้ได้น้ำผึ้งป่า น้ำผึ้งจากดอกไม้ แต่ละแบบให้กลิ่นรสต่างกัน อย่างมีเอกลักษณ์ แต่ที่คนนิยมกินกันมากที่สุดคือ น้ำผึ้งลำไยรสหอมหวาน และมีสีเหลืองอำพันสวยงาม พอหมดฤดูเก็บเกี่ยวหลักประจำปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม การขยายพันธุ์ผึ้งก็จะชะลอลง เหลือราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น ฟาร์มพัฒนกิจเองก็จะเก็บผึ้งไว้ราว 2,000 ลัง เพื่อลดต้นทุนในการดูแลลง แล้วค่อยเริ่มขยายพันธุ์อีกครั้ง ในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
นอกจากความเป็นระเบียบแบบแผนแล้ว นิสัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งของผึ้ง คือความขยัน คนเลี้ยงผึ้งเองก็ต้องขยันไปด้วย โดยจะต้องตื่นแต่เช้า แล้วเริ่มกระบวนการเก็บน้ำผึ้ง ราว 6 โมงเช้า เริ่มจากการเปิดฝาลังไม้ ซึ่งเป็นอาณาจักรของผึ้ง แล้วให้สโมกเกอร์ ที่ผลิตมาเป็นพิเศษ รมควันผึ้งเล็กน้อย ควันที่ใช้รมคือควัน จากการเผาแกนข้าวโพด จึงไม่ได้เป็นอันตรายแก่ผึ้ง และไม่รบกวนคุณภาพผลผลิต เพราะจุดประสงค์ของการรมควันคือ เพื่อให้ผึ้งดุน้อยลงเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน คนงานเก็บน้ำผึ้ง ก็จะต้องทำงานอย่างแข็งขัน เพราะการยุ่มย่ามกับผึ้งนานเกินไป ก็อาจทำให้ผึ้งรู้สึกว่า เป็นอันตรายจนพาลดุเอาได้
เมื่อรมควันแล้ว คอนผึ้งแต่ละคอน ก็จะถูกยกขึ้นมาปัดเอาตัวผึ้งออก โดยจะต้องปัดลงตรงหน้าลัง ใกล้ ๆ กับแถบกระสอบพลาสติก ที่ติดไว้เชื่อมระหว่างลังกับพื้น เพื่อเป็นทางด่วนให้ผึ้ง สามารถเดินกลับเข้ารังได้สะดวก
คอนผึ้งที่พร้อมให้เก็บเกี่ยวผลผลิต จะมีน้ำผึ้งสีเหลืองทองบรรจุอยู่เต็มรัง บางช่องที่บรรจุน้ำผึ้งไว้เต็มอัตรา ผึ้งก็จะผลิตไขมาปิดไว้เป็นฝา คนเก็บน้ำผึ้งจะต้องใช้มีดเฉือนส่วนนั้นออก รวมถึงต้องตัดแต่งรังส่วนเกินออกมาแยกเก็บไว้ต่างหาก สำหรับหลอมเป็นไขผึ้งหรือขี้ผึ้ง
ก่อนจะใส่คอนลงในเครื่องเหวี่ยง แล้วออกแรงหมุน เพื่อเหวี่ยงกับน้ำผึ้งออกมา ก่อนจะบรรจุ วัตถุดิบน้ำผึ้ง ลงในถังขนาด 200 ลิตร ปิดฝาให้สนิท เตรียมพร้อมลำเลียงส่งเข้าไลน์ผลิต
เมื่อเหวี่ยงเอาน้ำผึ้งออกแล้ว คอนผึ้งก็จะถูกส่งต่อมาให้ คนที่ทำหน้าที่ตัดแต่งรังผึ้ง การตัดแต่งในที่นี้คือ การตัดเอารังตัวอ่อนที่นูนขึ้นออก ตัวอ่อนที่นูนขึ้นมาคือตัวอ่อนเพศผู้ ซึ่งเป็นประชากรที่ยังไม่จำเป็น ในโมงยามที่อุตสาหกรรมต้องการผลผลิตสูงสุด ขั้นตอนการตัดแต่งจะเกิดขึ้นหลังเหวี่ยงน้ำผึ้งออกแล้ว เท่านั้นเพื่อไม่ให้ตัวอ่อนผึ้ง ปนเปื้อนลงไปในน้ำผึ้งที่เราเก็บเกี่ยว
เมื่อตัดแต่งแล้ว ก็ถึงเวลาของการจัดเก็บคอน คืนกลับลงไปในลังไม้ ก่อนจะเว้นระยะไป 8-10 วันให้ผึ้งได้หาอาหาร แล้วจึงวนกลับมาเก็บผลผลิตในสวนเดิมอีกครั้ง กรรมวิธีทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มขึ้นแต่เช้า เพื่อให้จบลงก่อนเวลาบ่ายสอง เป็นวิถีปฏิบัติเฉพาะตัวของฟาร์มพัฒนกิจ คุณบัญชาเล่าว่า
ที่ต้องเป็นเช่นนี้ก็เพื่อเหลือเวลาระหว่างบ่ายสองถึงหกโมงเย็นไว้ให้ผึ้งได้หาอาหารอีกครั้งก่อนจะหมดวัน ผึ้งจะได้ไม่ขาดแคลนอาหารจนเกินไป
ไม่เพียงแต่เวลาการเก็บเกี่ยวเท่านั้น ปริมาณน้ำผึ้งที่เก็บไป ก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และคุณภาพผลผลิตจากผึ้งเช่นกัน คุณบัญชาถือคติว่าเมื่อผึ้งใจกว้างกับเรา เราก็ต้องใจกว้างกับผึ้ง ดังนั้นเมื่อเก็บผึ้ง เราก็ไม่ควรจะโลภเก็บเอาไปทุกคอนในลัง
“เราพยายามรักษาคุณภาพให้ดีที่สุด เหมือนอย่างวันนี้เรามาเก็บน้ำผึ้ง ใน 1 ลัง จะมี 8 คอน ใช่ไหม เราจะให้มันเหลืออยู่ 1 คอน 1 คอนนี้เพื่อที่จะให้ผึ้งกินต่อไปของวันนี้ เป็นการรักษาผึ้งให้สมบูรณ์แข็งแรง น้ำผึ้งที่ได้มาครั้งต่อไปคุณภาพจะดีกว่า ความเข้มข้น กลิ่น ความสะอาดจะดีกว่า ถ้าเราเก็บออกมาทั้งหมดเลย ผึ้งเขาไม่มีอาหารกินอยู่ในรัง อายุเขาจะสั้นลงไป”
คนและผึ้งต้องเข้าใจกัน และกันให้มากที่สุด เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยที่ต่างคนต่างยังได้ผลประโยชน์ จากกันและกัน
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องดี แต่กาลครั้งหนึ่งในปีแรกๆ ที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง ยังไม่เฟื่องฟู คุณบัญชาก็เคยเจอปัญหาว่า เจ้าของสวนลำไยในบางพื้นที่ ไม่ต้อนรับคนเลี้ยงผึ้ง เพราะเชื่อว่าผึ้งจะไปแย่งน้ำหวาน จากลำไยในสวน ส่งผลให้สวนลำไย ให้ผลผลิตน้อยลง ร้อนใจไปถึงเกษตรอำเภอ และปลัดที่ต้องมาอธิบายว่า การมีผึ้งอยู่ในสวนลำไยนั้น เป็นเรื่องน่าขอบคุณเพียงใด
ต่อจากนั้นอีกไม่นาน อุตสาหกรรมผึ้งเลี้ยงก็เจอปัญหาใหม่อีก นั่นก็คือปัญหาน้ำผึ้งไม่ได้ปริมาณตามต้องการ เพราะชาวสวนลำไยเริ่มใช้สารกำจัดศัตรูพืช และยาฆ่าแมลงกันเยอะขึ้น ผึ้งเป็นสัตว์ที่บอบบางมาก ดังนั้นมันจึงได้รับผลกระทบโดยตรง ถึงขนาดที่ว่าบางสวนบางครั้งผึ้งที่ฟาร์มนำไปติดตั้ง ตายไปกว่า 70%
เมื่อผึ้งและลำไยต้องพึ่งพากัน คุณบัญชาจึงได้ติดต่อไปยัง กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกิดการสื่อสารกับชาวบ้าน เจ้าของสวนลำไยว่า เมื่อดอกลำไยบานแล้วก็เป็นอันว่าควรเลิกใช้สารเคมี โดยเฉพาะสารที่ใช้กำจัดแมลงต่างๆ กระนั้นก็ยังต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปีกว่าเกษตรกรจะเข้าใจ และเลิกใช้สารเคมีในฤดูเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งได้โดยสิ้นเชิง
มาตรฐานข้อสุดท้าย ก็คือมาตรฐานต่อผู้บริโภค แม้ว่าน้ำผึ้งจะเป็นอาหาร ที่ถูกปรุงแต่งน้อยที่สุดก่อนถึงมือคนกิน แต่สำหรับฟาร์มพัฒนกิจแล้ว ยังต้องมีการตรวจมาตรฐานยิบย่อยอีก ตลอดกระบวนการ เริ่มต้นจากการตรวจค่าความหวาน ตรวจค่ายาปฏิชีวนะที่อาจตกค้างเกินปริมาณ จากการใช้ยารักษาผึ้ง สองข้อนี้เป็นเสาหลัก ที่ฟาร์มพัฒนกิจยึดเป็นหัวใจสำคัญ วัตถุดิบน้ำผึ้งที่จะได้เข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ถัดไป จะต้องมีค่าความหวาน และค่ายาปฏิชีวนะตามมาตรฐานเท่านั้น
ช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ร้านค้า Golden Bee Shop ศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า น้ำผึ้ง รวงผึ้ง นมผึ้ง เกสรผึ้ง และผลิตภัณฑ์ผึ้ง รวมถึงสินค้าแปรรูปจากผึ้งทุกชนิด ตราผึ้งทอง หรือ Golden Bee ตรงจากฟาร์มผึ้งพัฒนกิจ น้ำผึ้ง เชียงใหม่ โทร. 053-422-460, 085-866-6948 Line ID. @goldenbee Email: goldenbee.shop.th@gmail.com
Share to Social Networks